ครูเล็กสอนมวย บทที่สามสิบเจ็ด - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content

วิธีการใช้เตะ
         การเตะก็คือการใช้ขาเหวี่ยงออกไปเป็นแนว ตรง แนวเฉียง แนวขนาน แนวคว่ำ หรือแม้แต่การใช้ส้นเตะ ซึ่งในปัจจุบันนี้ มักจะเรียกว่า “จระเข้ฟาดหาง” ซึ่งหากเรารู้จักใช้ ความได้เปรียบในเกมการต่อสู้จะอยู่ที่เราทันที ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนี้  ให้สังเกตให้ดีๆ เวลาเราต่อสู้กัน คนที่ถนัดหมัด ก็จ้องแต่จะใช้หมัด คนที่ถนัดเข่าก็จ้องแต่จะใช้เข่า คนที่ถนัดศอก ถนัดเตะ ก็จ้องแต่จะใช้สิ่งที่ตัวเองนั้นถนัด โดยลืมคิดถึงความยาว ระยะ และโอกาสหรือจังหวะในการใช้ ทีนี้ที่ผมกล่าวว่า “หากเรารู้จักใช้เตะ หรือใช้ตีน ให้เป็น ความได้เปรียบนั้นจะอยู่ที่เราทันที” นั้นเป็นอย่างไร ให้ท่านนึกตามไปนะครับ
         คนที่ต่อสู้กับเราอยู่เวลาขยับต่อยหรือต่อยเรามา ในที่นี้เราไม่ต้องก้าวหรือถอยหรือออกข้างแต่อย่างใด ความยาวของแขน เทียบกับความยาวของขา ลองคิดดูนะครับว่า พอคู่ต่อสู้ต่อยเราหรือขยับต่อย ในวินาทีนั้นให้เราเตะไปแบบไหนก็ได้ ยกตัวอย่าง คู่ต่อสู้ต่อยเรามา แล้วเราเหวี่ยงแข้งไปที่คู่ต่อสู้ พร้อมๆกัน โดยที่ให้เราเอนศีรษะของเราไปด้านหลัง แขนซึ่งสั้นกว่าขา ขาซึ่งยาวกว่าแขน ท่านคิดตามนะครับ ว่าอะไรจะโดน และอะไรจะไม่โดน ในที่นี้ขาซึ่งเหวี่ยงแข้งไปยังคู่ต่อสู้ซึ่งต่อยเรามา ย่อมถึงตัวหรือก้านคอของคู่ต่อสู้ พร้อมกับหมัดที่คู่ต่อสู้ชกมาจะถึงอากาศ เพราะท่านได้เอนศีรษะไปทางด้านหลัง เราพอจะเห็นภาพแล้วนะครับ ว่าแข้งหรือหลังเท้าของเราจะถึงตัวคู่ต่อสู้ก่อนเสมอ ซึ่งการเตะแบบนี้เรียกว่าเตะเป็น คือเตะเวลาคู่ต่อสู้ชกมา เป็นการแลกอวัยวุธสั้นกับอวัยวุธที่ยาวกว่า แต่ท่านต้องเตะแบบเอนศีรษะไปทางด้านหลัง ซึ่งการเตะแบบนี้มีในการเตะของไชยา ที่บางท่านบางคนก็ดูถูกว่า “จะเอาน้ำหนักเตะมาจากไหน” ต้องใช้การสลับกันของแขนกับขาสิ การเตะแบบไชยาจะมีน้ำหนักได้อย่างไร เพราะมือกับขาไปทางเดียวกัน อะไรทำนองนี้ ก็ว่ากันไปนะครับ  คนที่พูดหรือคนที่ออกความเห็นก็ล้วนแต่เป็นเหมือนเด็กอมมือที่ไม่เคยโดน หรือไม่เคยได้เรียน หรือเรียนแล้วยังทำไม่ได้ หรือเรียนได้นิดเดียวแล้วก็ออกไปเที่ยวได้พูดว่า “เรียนมวยไชยา มาแล้วไม่สามารถใช้จริงได้ ออกอวัยวุธแบบไชยาไม่มีน้ำหนัก” อะไรก็ว่ากันไปนะครับ

         การฝึกการเหวี่ยงแข้งในแบบมวยไทย การเหวี่ยงแข้งที่ถูกต้อง จะต้องเริ่มที่การยืนให้ทิ้งนำหนักลงบนฝ่าเท้าทั้งสองข้าง เวลาจะเหวี่ยงแข้งข้างไหน ให้เราถ่ายน้ำหนักลงบนขาข้างที่ไม่ได้เหวี่ยงแข้ง โดยหมุนปลายเท้าข้างที่เรายืนตามเวลาเราเหวี่ยงแข้งไป ซึ่งแล้วแต่ความถนัด  บางท่านก็หมุนฝ่าเท้าข้างที่ยืนก่อน จากนั้นก็เหวี่ยงแข้งตาม แต่ที่ถูกต้องจะต้องทำพร้อมๆกันนะครับ การเตะนั้นมีหลายข้อบ่งใช้ เช่น เตะขา เตะลำตัว เตะก้านคอ  

         เตะขา เมื่อเราฝึกการเตะขา เราก็ควรฝึกให้ได้หลายรูปแบบด้วยกัน คือ การเตะสะบัด การเตะเหวี่ยง และการเตะด้วยตาตุ่ม รวมไปถึงการเตะด้วยส้นเท้า
         เตะลำตัว เราควรงอขาเพื่อให้เป็นเข่าไปด้วย แต่ไม่งอจนเป็นมุมแหลม การเตะขาตรงนั้น ทำให้คู่ต่อสู้สามารถเข้าหาเราได้ง่าย จึงนิยมการเตะแบบงอเข่าเล็กน้อยหรือบางทีก็เตะแบบครึ่งแข้งครึ่งเข่า จะทำให้เข่าที่เรางอเอาไว้นั้น บังหรือกั้นคู่ต่อสู้ของเราไม่ให้เข้ามาชก หรือเข้ามาถึงตัวเราได้ง่าย ที่สำคัญเราควรเอนตัวไปทางด้านหลัง
เตะก้านคอ
         เตะก้านคอ เป็นลูกที่อันตรายทั้งคนเตะและคนถูกเตะ เนื่องจากว่า ถ้าเตะในแบบไม่ระมัดระวังเมื่อเรายกขาสูง ขาข้างที่เรายืนย่อมเสียหลักหรือเสียศูนย์ได้โดยง่าย หากเราเตะขึ้นไปแล้วเป้าหมายเคลื่อนเข้ามาหาเรา ซึ่งนับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่าเรายืนขาเดียว ยิ่งคู่ต่อสู้เป็นมวยมากเรายิ่งเสียเปรียบมาก ซึ่งการเสียเปรียบจะเสียเปรียบอย่างไร ก็สุดแท้แต่ความรู้ของคนที่ถูกเตะสูงนั้น ซึ่งถ้าจะมาสอนกันในที่นี้มันก็จะยืดยาวเกินไป การเตะก้านคอที่ดี จึงเตะเฉพาะตอนที่เราสังเกตเห็นว่า “คู่ต่อสู้นั้นขาดความระมัดระวัง หรือคู่ต่อสู้นั้นไม่มีความรู้ในการระมัดระวัง หรือเตะตอนที่คู่ต่อสู้นั้นต่อยหรือออกอวัยวุธใดก็ตามที่ระยะของคู่ต่อสู้นั้น อยู่ในระยะเตะก้านคอ” เตะก้านคอนั้นหากเราเตะกระชาก อาจทำให้กระดูกคอต่อเคลื่อน ซึ่งก็นับเป็นความโชคร้ายของคนถูกเตะได้  ส่วนการเตะของไชยานั้น เป็นแรงเหวี่ยงของเหลี่ยมตัว และถ้าต้องการให้ขาข้างที่เราเตะนั้นสูง ก็ให้เราเอนตัวลงไปให้ศีรษะของเรานั้นต่ำที่สุด ให้เราคิดถึงไม้กระดาน ที่ข้างหนึ่งเป็นหัวไม้ ข้างหนึ่งเป็นปลายไม้ ซึ่งไม้กระดานนั้นจะหมุนไปทางใดก็ตาม หัวไม้กับปลายไม้ย่อมเป็นไปในทิศทางตรงข้ามเสมอ คือปลายไม้สูง หัวไม้ต่ำ หัวไม้อยู่ทางขวา ปลายไม้อยู่ทางซ้าย ไม่มีทางที่หัวไม้กับปลายไม้จะอยู่ที่เดียวกันไปได้ จึงเป็นการระมัดระวังตัวเองไปในตัว หรือปิดป้องจุดอ่อนของตัวคนที่เตะ คนที่โดนเตะเข้ามาต่อยหน้าก็ต่อยไม่โดน คนที่โดนเตะจะเข้ามาถึงตัวเราได้โดยยากมาก หากเราฝึกให้เป็นอัตโนมัติ  ดังที่กล่าวมาแล้ว เตะจะหนักหรือไม่หนัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นใดเลย คือไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ต้องเอามือไปคนละทางกับขา หรือเอามือไปทางเดียวกันกับขา มันขึ้นอยู่ที่ความชำนาญคือฝึกจนชำนาญ และถ่ายน้ำหนักอย่างถูกต้อง ดังนั้นคนที่กล่าวว่า “เตะแบบมวยไชยา จะเอาน้ำหนักมาจากตรงไหน” เป็นการพูดของคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องของมวยไทยเลย
เตะด้วยขาหน้า
เตะด้วยขาหน้า
         การเตะด้วยขาหน้า  ผู้ฝึกมวยไทยทุกคน ควรฝึกการเตะด้วยขาหน้า เนื่องจากขาหน้านั้นอยู่ใกล้คู่ต่อสู้มากที่สุด การเตะด้วยขาหน้าจึงเป็นการเตะเพื่อตัดจังหวะของคู่ต่อสู้ได้อย่างดียิ่ง เนื่องจากเป็นการเตะที่รวดเร็วและทำลายจังหวะรุกของคู่ต่อสู้  การเตะด้วยขาหน้านั้น ควรเตะขาเป็นอันดับแรก เพราะคนเราจะเดินก็เดินด้วยขา เมื่อคู่ต่อสู้ขยับชก ขยับเตะ ขยับอะไรมาก็แล้วแต่ ให้เราใช้ขาหน้าซึ่งอยู่ใกล้คู่ต่อสู้และรวดเร็ว สะบัดเตะหรือเหวี่ยงแข้งเข้าไปที่ขาของคู่ต่อสู้ ซึ่งจะทำให้คู่ต่อสู้นั้นชะงักหรือหยุด และถ้าเราเตะเข้าไปที่เส้นปัตตะคาด ก็จะมีผลทำให้ยุติการต่อสู้ได้ หรือทำให้เราสามารถออกอวัยวุธในการติดตามซ้ำเติมต่อไปได้อย่างง่ายดาย
เตะแบบจระเข้ฟาดหาง
         การเตะแบบจระเข้ฟาดหาง การเตะแบบจระเข้ฟาดหางนั้น ควรฝึกให้ชำนาญ เพราะจะใช้เมื่อเราเตะผิด แล้วคู่ต่อสู้ถลำเข้ามาหาเรา หรือเราเสียหลักแล้วคู่ต่อสู้ถลำเข้ามา และอีกอย่างหนึ่งก็คือเราวางแผนให้คู่ต่อสู้ชกเราหรือทำอะไรสักอย่างมาที่เรา แล้วเราก็ใช้จะเข้ฟาดหาง ที่เราเตรียมเอาไว้นั้นกลับไปยังคู่ต่อสู้ จระเข้ฟาดหาง ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งกับการใช้งานในแบบซื่อๆคือใช้ให้คู่ต่อสู้เห็นว่าเราได้ใช้ เพราะเราเองต้องหันหลังหรือกลับตัว เพื่อเหวี่ยงส้นเท้าเข้าหาคู่ต่อสู้ ซึ่งเพียงคู่ต่อสู้เดินเข้าประชิดเรา ความได้เปรียบจะตกเป็นของคู่ต่อสู้ในทันที  ท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ท่านจึงบอกว่า จระเข้ฟาดหาง เป็นการใช้งานที่เวลาเตะไปแล้วพลาด หรือเตะแล้วเสียหลักหรือเราเสียหลักแล้วใช้จระเข้ฟาดหาง หรืออีกอย่างหนึ่งคือ เราเตรียมจะเข้ฟาดหาง เอาไว้เพื่อใช้กับคู่ต่อสู้เนื่องจากเห็นแล้วว่า “คู่ต่อสู้ชอบออกอวัยวุธนี้ แล้วเราจะเอาจระเข้ฟาดหางแก้ไขกลับไป”
การเตะด้วยตาตุ่ม
        การเตะด้วยตาตุ่ม ระยะเตะนี้สั้นมากครับ ใช้สำหรับเวลาคู่ต่อสู้อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ ให้เรายกขาของเราพับให้เป็นมุมประมาณ 90 องศา งัดหลังเท้าให้เกร็ง เหวี่ยงเอวของเราให้แรง ขาที่เราพับขึ้นนั้นจะเหวี่ยงพาเอาตาตุ่มของเราไปฟาดกับขาคู่ต่อสู้ ทำให้คู่ต่อสู้เสียการทรงตัว ทำให้เรามีโอกาสต่อเติมติดตามอวัยวุธอื่นๆได้โดยง่าย มีทั้งการเตะด้วยตาตุ่มหน้า กับการเตะด้วยตาตุ่มหลัง ลักษณะการเตะด้วยตาตุ่มนี้ ยังสามารถแก้ลูกจับคอตีเข่าได้อีกด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด เป็นวิธีการใช้แข้งหรือเตะที่เราต้องผ่านการฝึกฝน อย่างพิถีพิถันและต้องมีความอดทนยิ่ง เราโดนชกจะเตะอย่างไร เราโดนคู่ต่อสู้เข้ามาเข่าเราจะเตะอย่างไร เราโดนคู่ต่อสู้ขยับจะศอกเราในระยะที่เราเตะได้เราจะเตะอย่างไร อีกทั้งเมื่อโดนคู่ต่อสู้เข้ามาเตะเรา เราจะเตะได้อย่างไร รวมไปถึงโดนคู่ต่อสู้ถีบเรามาเราจะเตะได้อย่างไร อะไรเหล่านี้เป็นต้น เราต้องฝึกจนชำนิชำนาญจนสามารถใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว จึงขอให้ท่านผู้อ่านที่สนใจมวยไทยลองนำเอาไปฝึกกันนะครับ
ครูเล็กสอนมวยตอนอื่นๆ
Back to content