ครูเล็กสอนมวย บทที่แปด - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content

แม่ไม้คืออะไร

..........คำถามหญ้าปากคอกที่ดูเหมือนว่าใครๆก็สามารถตอบได้ และยังสามารถยกตัวอย่างแม่ไม้ต่างๆอาทิเช่น จระเข้ฟาดหาง กวางเหลียวหลัง อิเหนาแทงกฤช หิรัญม้วนแผ่นดิน ฯลฯ ว่าเป็นแม่ไม้แทบทั้งสิ้น หากแต่ว่าถ้าหากมีคำถามขึ้นมาสักนิดว่าหากว่าท่าเหล่านั้นเป็นแม่ไม้ แล้วลูกของมันล่ะอยู่ที่ไหน ก็คงจะไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้กล่าวและก็คงเป็นเหตุให้ต้องติดขัดหรือจำเป็น ต้องตอบแบบกำกวม คือฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ หรือว่าฟังแล้วคิดว่าตัวเองยังเรียนไม่ถึง จึงยังไม่เข้าใจอะไรประมาณนั้น

แม่ไม้ก็คือท่าครูของแต่ละครู คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวของบรมครูมวยไชยาทั้งสองท่านคือ ท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย และท่านคุณครูทองหล่อ ยาและ ลูกศิษย์รักท่านปรมาจารย์ ทำไมท่านจึงกล่าวเช่นนั้น

..........คนที่จะเป็นแม่คนที่สมบูรณ์นั้น ต้องเป็นคนที่แข็งแรงและพร้อมแล้วที่จะเป็นแม่ คำว่าพร้อมแล้วก็คือทุกอย่างสมบูรณ์ไม่บกพร่องทั้งอายุ ทั้งฐานะ นิสัยใจคอ และระเบียบปฏิบัติที่พร้อมที่จะกล่อมเกลาเลี้ยงดูลูกน้อยของตนได้ และยังไม่เพียงแค่นั้น ยังต้องใช้เวลาในการตั้งครรภ์และต้องระมัดระวัง กระทั่งการกินการเดิน และยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย กว่าจะคลอดลูกน้อยที่สมบูรณ์ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นแม่คนที่สมบูรณ์

..........ผิดกับบางท่านบางคน โดยยังไม่พร้อมทั้งอายุ ฐานะ ประกอบกับนิสัยใจคอก็ยังไม่ได้ขัดเกลา ลูกที่คลอดออกมาก็ต้องมีปัญหาต่างๆตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้


สอนศิลปะการต่อสู้
"ท่าครู" หรือ "แม่ไม้" ของมวยไชยา
เรียนศิลปะป้องกันตัว
"ท่าครู" หรือ "แม่ไม้" ของมวยไชยา

ท่าครู ก็เช่นเดียวกัน ท่านต้องอบรมตัวของท่านเองตั้งแต่เริ่มเรียน ต้องทำความเข้าใจในทุกขั้นตอน และต้องละเอียดลออตั้งใจทำแบบที่ครูได้อบรมสั่งสอน จนสามารถทำขั้นตอนง่ายๆไป จนถึงขั้นตอนที่สูงขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเวลาและอาศัยความพากเพียรใส่ใจในการ ฝึกฝน จากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี จึงจะสามารถมีครูหรือว่าท่าครู เอาไว้เป็นสมบัติของตน ซึ่งสมบัติอันนี้นั้นจะอยู่ติดตัวไปจนตลอดชีวิต

..........ท่าครูที่สมบูรณ์ของแต่ละครูนั้น แฝงไว้ด้วยปรัชญาการรับและการรุก การหลอกการล่อ และการเคลื่อนไหวตามที่ครูบาอาจารย์ได้อบรมสั่งสอน และไม่ว่าเมื่อใดที่มีการออกอวัยวุธ โดยเมื่อออกอวัยวุธแล้วย่อมต้องกลับมาอยู่ในท่าครูเสมอ ท่าครูนั้นมักจะใช้สำหรับในการชกบนสังเวียน เนื่องจากบนสังเวียนนั้น ผู้ที่ได้อบรมร่ำเรียนวิชามวยจนแตกฉานเท่านั้น จึงจะสามารถหาญขึ้นไปชกได้ ยกเว้นเสียแต่ในบางคราวซึ่งอนุโลมให้ตามแต่กาลเทศะที่ควรจะเป็น และท่าครูยังเป็นการกตัญญูบอกกล่าวว่า เราได้ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์ท่านใด

..........ที่กล่าวมายืดยาวบางท่านบางคนก็คงจะพอเดาออกว่าท่าครูนั้นเป็นแม่ไม้ แต่บางท่านบางคนก็ยังไม่เข้าใจดังนั้นผมจะขอกล่าวให้ท่านเข้าใจโดยรวมๆว่า แม่ที่ดีย่อมเลี้ยงดูลูกน้อยได้ ท่าครูก็เช่นกัน ท่าครูที่สมบูรณ์เปรียบเหมือนแม่ที่คอยป้องกันตัวของเรา ให้พ้นจากแรงปะทะของอวัยวุธ และยังสามารถออกอวัยวุธแก้ไขได้อย่างดี เปรียบเสมือนการมองศัตรูจากอาคารที่แข็งแรงเมื่อข้าศึกปีนป่ายเข้ามาเราก็ ย่อมสามารถขับไล่ออกไปได้ ซึ่งการขับไล่หรือการตอบโต้นั้นแหละคือลูกไม้

..........มาถึงตอนนี้ทุกท่านก็พอมองออกว่า ไม่ว่าจะเป็นจระเข้ฟาดหาง กวางเหลียวหลัง หิรัญม้วนแผ่นดิน ก็ล้วนเป็นลูกไม้ทั้งสิ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดที่กล่าวว่าเป็นแม่ไม้แท้ที่จริงคือลูกไม้นั่นเอง

วิธีการใช้ลูกไม้

..........ท่านควรใช้ลูกไม้ที่ท่านถนัด ด้วยการหลอกล่อแกล้งเปิด หรือบางครั้งต้องแกล้งเจ็บ และท่านต้องฝึกฝนจนมีลูกไม้มวยเต็มอัตรา และสามารถหยิบยกมาใช้งานได้ตาม เหตุการณ์กาละเทศะที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างท่านเจอกับมวยหมัด ท่านต้องเตรียมลูกไม้แก้หมัด อันได้แก่ดับชวาลา ขุนศึกตีทวน นาคามุดบาดาล อิเหนาแทงกฤช ฯลฯ และท่านต้องแกล้งเป็นหรือหลอกให้เป็น นั่นคือการจรด

มวยของท่านต้องเปิดให้คู่ต่อสู้เห็นว่าสามารถใช้หมัดในการที่จะพิชิตท่านได้อย่างง่ายดาย และเมื่อคู่ต่อสู้หลงกล ท่านก็ได้ใช้ลูกไม้มวยที่ท่านตระเตรียมได้อย่างถนัดถนี่และมีประสิทธิภาพ

..........ลูกไม้มวยไทยนั้นมีข้อบ่งใช้งานมากมาย บางลูกไม้มวยใช้เพื่อการซ้ำเติม บางลูกไม้มวยใช้เพื่อการเผด็จศึก บางลูกไม้มวยใช้เพียงเพื่อการหยามกัน เช่นบาทาลูบพักตร์ และบางลูกไม้มวยใช้สำหรับการแสดงเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ซึ่งในทุกลูกไม้มวยที่ใช้ได้้จริงจำเป็นต้องใช้มารยา ต้องใช้กลอุบายในการหลอกล่อ จึงจะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ และในทุกลูกไม้มวยย่อมต้องอาศัยแม่ไม้คือท่าครูของแต่ละครู กล่อมเกลาอบรมจาก วันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี จนแม่ไม้หรือท่าครูกับลูกไม้นั้นมีกำลังเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน สามารถใช้งานได้ดังใจปรารถนา

แม่ไม้ แข็งแรง ลูกไม้ก็แข็งแรง

แม่กับลูกผูกพันธ์กันฉันใด แม่ไม้กับลูกไม้ก็ผูกพันธ์กันฉันนั้น

แม่เลี้ยงดูลูกฉันใด เมื่อลูกเติบใหญ่ก็เลี้ยงดูแม่ฉันนั้น

..........ผู้ที่ฝึกฝนมวยไทย ควรหมั่นดูแลเอาใจใส่แม่ไม้ของตัวเองให้ดี จนมีกำลังสมบูรณ์เมื่อออกลูกไม้จะ เป็นลูกไม้ที่มีประสิทธิภาพ

ในโอกาสต่อไปผมจะพูดถึงวิธีการฝึกการออกอวัยวุธแบบคร่าวๆขอให้ติดตามกันนะครับ

ครูเล็กสอนมวยตอนอื่นๆ
Back to content