ท่าบริหาร - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content

..........การย่างสามขุมนั้นนับได้ว่าเป็นหัวใจของมวยไทยเลยทีเดียว เพราะเป็นแม่ไม้หรือท่าครูนั่นเอง  ในปัจจุบันนี้หาดูได้ยาก จะมีให้เห็นก็เป็นเพียงท่าย่างที่อุปโลกขึ้นเอง  ไม่สามารถเป็นแม่บทที่ดีหรือท่าครูได้

   
ท่าย่างสามขุมที่แท้นั้นเป็นอย่างไร

..........จริงๆแล้วการย่างสามขุมนั้นคือการปกป้องอวัยวะสำคัญต่างๆ ด้วยอวัยวุธที่เรามีในร่างกาย  เป็นการกระชับป้องกันตัวให้ได้ทุกส่วน ด้วยท่าครูหรือแม่ไม้ ทุกครั้งที่เราย่างสามขุมจะมีเพียงสติที่คอยสั่งการให้เคลื่อนที่ไปทางใด  เหมือนเราเป็นผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ เราต้องสร้างกล้ามเนื่อให้พร้อมอยู่เสมอ ต้องจัดวางองค์ประกอบของแขน ศอก เข่า การยืนให้สมดุลย์ และองค์ประกอบเหล่านั้นสามารถเข้าปิดป้องการจู่โจมต่างๆของฝ่ายปรปักษ์ได้ โดยสัมพันธ์กัน  ไม่ขวางกันหรือไม่แย้งกัน สตินั้นคือแม่ทัพ อวัยวุธนั้นคือทหารที่คอยปกป้องดูแลอวัยวะสำคัญต่างๆมิให้เป็นอันตราย  เราจึงเรียกการย่างสามขุมว่า "ท่าครูหรือแม่ไม้" เพราะสามารถป้องกันตัวได้  ใครสามารถย่างสามขุมได้ดี ถือว่า สามารถป้องกันตัวได้เบื้องต้น  เมื่อสามารถป้องกันการรุกของปรปักษ์ได้แล้ว จึงสามารถใช้อวัยวุธต่างๆเข้าตอบโต้ฝ่ายปรปักษ์ โดยใช้ท่าต่างๆที่ได้ฝึกฝนมา เรียกว่า "ลูกไม้" นั่นเอง
  
..........ถ้าเราจะกล่าวโดยสรุปความนั่นคือ "มีแม่แล้วก็มีลูก"  ถ้าแม่แข็งแรง ลูกก็แข็งแรง ดังนั้นเราต้องฝึกการย่างสามขุมให้ชำนาญ เพราะอวัยวุธต่างๆที่เราฝึกนั้น มีท่าย่างสามขุม เปรียบเสมือนเป็นกำลังพื้นฐานสำคัญ ที่จะส่งอวัยวุธเข้าปะทะฝ่ายปรปักษนั้นเอง


   ทีนี้ขั้นตอนที่สำคัญที่จะลืมกล่าวเสียมิได้ก็คือ เราจะฝึกกล้ามเนื้อให้พร้อมที่จะย่างสามขุมเสียก่อนเป็นเบื้องต้น ด้วยท่าบริหารของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย บรมครูมวยแห่งเมืองสยาม

...

ท่าที่หนึ่ง ปั้นหมัด

    
..........หมัดนั้นเป็นอวัยวุธที่สำคัญมาก เกิดจากการรวมนิ้วมือทั้งหมดเข้าด้วยกันด้วยการกำมือให้แน่น โดยสัญชาติญาณนั้น คนเรามักกำมือได้ตั้งแต่เกิดมา หรือตั้งแต่อยู่ในท้องของมารดา แต่ก็ยังมีส่วนมากหรือทั้งหมดที่ยังกำมือไม่ถูกต้องเวลาชกหรือต่อย จะสังเกตุได้ว่า การกำมือให้เป็นหมัดที่ดีนั้นย่อมต้องมีขั้นตอนหรือทฤษฎีที่ถูกต้อง และต้องไม่เป็นอันตรายต่อมือหรือหมัดเมื่อชกออกไป

   ในท่าปั้นหมัดนี้นั้น จะเป็นการฝึกการรวมนิ้วมืออย่างถูกต้อง เป็นการบริหารกล้ามเนื้อส่วนแขนท่อนล่าง และกำลังขาตั้งแต่น่อง จนถึงขาท่อนบน

วิธีการฝึก

 

muay thai thailand

ให้ผู้ฝึกยืนอยู่ในท่ายืนมวย แต่ให้เปลี่ยนจากการจับบริเวณหน้าขา มาเป็นการยกแขนท่อนล่างให้ขนานกับพื้น โดยให้ตั้งฉากกับลำตัว ลำตัวให้ตั้งตรง พร้อมย่อขายืนทั้งสองข้าง  แบมือออกให้สุด ไม่เกร็ง ศอกทั้งสองข้างไม่เลยแผ่นหลังแนบชิดลำตัวแบบสบายๆ ไม่เกร็งเกินไป และไม่ติดจนเกินไป ศีรษะตั้งตรง มองไปข้างหน้า

muay thai techniques

ยืดขายืนให้สุดพร้อมกำมือทั้งสองข้างเข้าอย่างแรง โดยการเก็บงอข้อนิ้วด้านบนทั้งสี่นิ้ว ตั้งแต่ชี้ กลาง นาง ก้อย เข้าพร้อมๆกันทุกข้อนิ้ว พับเก็บนิ้วหัวแม่มือให้สนิทโดยให้ทับลงบนนิ้วทั้ง ๔  นิ้วด้านหน้ามือ พยายามดันนิ้วทั้ง ๔ นิ้ว ให้เรียบทางด้านสันหมัด

muay boran gym

ย่อขายืนลงอีกระดับเดิม พร้อมแบมือออกแรงๆ อยู่ในท่าเตรียมครั้งแรก ให้ปฏิบัติจังหวะที่หนึ่ง จังหวะที่สอง ต่อเนื่องกันไปประมาณ ๓ นาที  ผู้ฝึกใหม่จะเมื่อยบริเวณแขนท่อนล่าง กับบริเวณน่องและขาท่อนบน

ประโยชน์ที่ได้รับ
 จะสามารถเกิดทักษะในการรวมนิ้ว ทุกนิ้วพับเข้าเป็นหมัด บริหารกำลังส่วนขา การทรงตัว เกิดความรวดเร็วเมื่อเวลาใช้งานจริง และไม่เกิดอันตรายต่อมือหรือนิ้วมือในเวลาชก

ท่าที่สอง พันแขน


......ท่านี้เป็นการบริหารหัวไหล่ทั้งสองข้าง พร้อมกันกับการฝึกการหมุนแขน ฝึกประสาทสมอง การสั่งการ จุดและตำแหน่งของแขนทั้งสองข้าง เป็นการบริหารกล้ามเนื้อขาไปด้วยพร้อมๆกัน การพันแขนนั้นจะต้องพันทั้งข้างหน้าและข้างหลังพร้อมกันกับการย่อ ยืด   

muy thai

ยืนย่อขาขนานเหมือนยืนมวย ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นระดับไหล่ พับแขนท่อนล่างพร้อมกำมือให้ดีที่สุด เหมือนท่าปั้นหมัด แขนท่อนล่างให้พับมาให้ขนานกับพื้น ให้แขนซ้ายอยู่หน้าแขนขวาอยู่หลัง ไม่เกร็งแขน รวมทั้งแขนทั้งสองให้เกือบติดกัน ให้กำปั้นเกือบติดแขนท่อนบนของทั้งสองแขน ให้สันแขนทั้งสองข้างหันออกด้านนอก เสมอระดับไหล่ ลำตัวตั้งตรง ศีรษะตรง

muay thailand

ยืดขาทั้งสองข้างให้สุด พร้อมกับยกแขนขวาในแนวขนานพื้น ขึ้นไปจนถึงหน้าผากโดยให้มองลอดแขนได้ พร้อมกับลดแขนซ้ายลงในแนวขนานพื้นจนถึงระดับลิ้นปี่ โปรดสังเกตุว่าในท่าเตรียมนั้นแขนขวาจะอยู่ด้านใน เวลาเราเริ่มจังหวะที่หนึ่ง เราก็ยกขึ้นจากจุดเริ่ม แล้วก็ในขณะเดียวกันคือการทำพร้อมกัน ก็ลดแขนซ้ายจากจุดเริ่มเช่นกัน โดยสันแขนทั้งสองข้างหันออกด้านนอก

old style muay thai

เมื่อยืดขาขึ้นจนตึง พร้อมกับส่งแขนขวาขึ้นราวหน้าผาก ลดแขนซ้ายระดับลิ้นปี่ ก็ให้กลับย่อขาทั้งสองข้างลง พร้อมๆกับยกแขนข้างซ้ายที่เดิมอยู่ระดับลิ้นปี่ขึ้นมาแทนที่แขนขวา และลดแขนขวาลงแทนที่แขนซ้าย โดยให้แขนทั้งสองข้างขนานกับพื้นตลอดเวลา และต้องกำหมัดให้ถูกต้องตลอดเวลาด้วย
   โปรดสังเกตุว่า แขนซ้ายที่ยกขึ้นแทนแขนขวา จะต้องยกขึ้นข้างในคือพันแข้าทางด้านสันแขนด้านใน(ด้านนิ้วหัวแม่มือของแขน ขวา) และให้ทำซ้ำระหว่างจังหวะที่หนึ่งและจังหวะที่สอง โดยการพันเข้าในแขนของทั้งสองแขนต่อเนื่องกัน เป็นเวลาประมาณ ๓ นาที
   ผู้ฝึกใหม่จะรู้สึกหนักบริเวณไหล่ทั้งสองข้าง และเมื่อย เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวกำลังถูกสร้าง

ประโยชน์ที่ได้รับ

   จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่และปีกแข็งแรง มีการทรงตัวดีขึ้นสะสมมาจากท่าปั้นหมัด คือจะทำให้ขาแข็งแรงขึ้น ฝึกทักษะในการจดจำระดับของแขน ตำแหน่งของแขน

(พันกลับหลัง)

   ปฏิบัติเหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงพันแขนทั้งสองข้างออกนอกแขน ทั้งย่อลงและยืดขึ้น ให้สังเกตุแขนระดับลิ้นปี่ จะพันย้อนออกนอกแขนระดับหน้าผาก
   ผู้ฝึกท่าพันแขนใหม่ๆ ควรแบ่งเวลาในสามนาที ทั้งพันไปข้างหน้าและพันกลับ

ประโยชน์ที่ได้รับ

   จะทำให้สามารถสั่งการแขนได้ทั้งสองข้าง ทั้งไปหน้าและกลับหลัง และในท่าพันแขนนี้ จะสามารถพัฒนาเป็นท่าป้องกันตัวได้ด้วย

...


ท่าที่สาม พันหมัด


..........ท่านี้เป็นท่าบรหารท่าสำคัญมากๆ เป็นการบริหารหัวไหล่ ฝึกทักษะประสาทสั่งการ และยังเป็นแบบฉบับของการจรดมวยไชยาได้อย่างดี  ผู้ฝึกต้องมีท่าพื้นฐานตั้งแต่ท่าปั้นหมัด พันแขน จึงสามารถพัฒนาเป็นท่าปั้นหมัดได้อย่างถูกต้อง
..........ท่าบริหารท่านี้นั้น ผู้ฝึกต้องมีสมาธิในการจัดระเบียบแขนทั้งสองข้าง มีสติในการพันทั้งไปหน้าและกลับหลัง อีกทั้งยังต้องกำมือให้ถูกต้องตลอดเวลา  รวมไปถึงการจัดแนวศอกทั้งสองข้างในขณะพันหมัดให้ศอกทำมุมประมาณ ๔๕ องศา (ทำมุมกับพื้น)  พร้อมๆกันกับการย่อยืดอีกด้วย

learn muy thai

ยืนย่อขาขนานแบบยืนมวย ยกแขนทั้งสองข้างเป็นเครื่องหมายคูณ แขนซ้ายอยู่หน้า แขนขวาอยู่หลัง ศอกทั้งสองข้างไม่กางออกมากเกินไป  ระดับหมัดทั้งสองข้างอยู่บริเวณตาทั้งสองข้าง  ไม่เกร็งแขนและไม่กำมือแน่นจนเกินไป ให้กำมือพอดี พอดี

teaching in thailand

ยืดขาทั้งสองข้างให้สุด พร้อมกับลดแขนซ้ายลง ให้หมัดซ้ายอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของแขนท่อนล่างข้างขวา โดยให้ระยะของหมัดกับแขนท่อนล่างห่างกันแล็กน้อย ข้อควรระวัง ให้รักษาแนวเครื่องหมายคูณ อย่าชกหมัดออกนอกบริเวณหางตา และให้สันแขนออกนอกเสมอ

old style muay thai

ให้ย่อลงทันทีที่ขาตึง พร้อมกับชกแขนซ้ายขึ้นไปให้หมัดอยู่ระดับดวงตาข้างขวา โดยการชกเข้าด้านในแขนข้างซ้าย ลดแขนขวาลง ให้หมัดขวาอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของแขนท่อนล่างข้างซ้าย โดยให้ระยะของหมัดกับแขนท่อนล่างแขนซ้ายห่างกันเล็กน้อย ข้อควรระวังเหมือนจังหวะที่หนึ่ง และให้สันแขนออกนอกเสมอ

   ให้ผู้ฝึกทำซ้ำจังหวะที่หนึ่งและจังหวะที่สอง เป็นเวลาประมาณ ๓ นาที
   ผู้ฝึกใหม่จะรู้สึกเมื่อยบริเวณหัวไหล่ อีกทั้งยังต้องพยายามมีสติระลึก แนวของแขนและระยะของหมัด การกำหมัด และระยะของศอกเป็นต้น

ประโยชน์ที่ได้รับ

   ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่แข็งแรง รู้จักการชกในแนวเฉียงเป็นเครื่องหมายคูณ และทำให้สามารถจรดมวยในแบบฉบับของไชยาได้ถูกต้อง และยังสามารถพัฒนาเป็นท่าป้องกันตัวได้อีกด้วย

( พันกลับหลัง )

   ให้เปลี่ยนจากการชกเข้าด้านในแขน เป็นการชกออกนอกสันแขนด้านนอก แต่แนวต่างๆของหมัด แขน และศอกนั้น ยังอยู่ในตำแหน่งของการพันไปหน้าทุกประการ
   
   ให้ผู้ฝึกปฏิบัติท่าพันไปหน้าและพันกลับหลัง โดยแบ่งภายใน ๓ นาทีให้เท่ากัน

ประโยชน์ที่ได้รับ

   จะทำให้สามารถแยกประสาทสั่งการได้ทั้งการชกเข้าด้านในแขนและการชกออกนอกแขน จะทำให้สามารถพัฒนาไปสู่การย่างสามขุมโดยการพันหมัดไปหน้าและพันกลับ ทั้งเดินหน้าและถอยหลัง  บริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ให้แข็งแรง และยังสามารถใช้เป็นท่าป้องกันตัวได้อีกด้วย

...

..........ให้ผู้ฝึกสังเกตุว่า ท่าบริหารทั้ง ๓ ท่าที่กล่าวมานั้น ขาทั้งสองข้างยืนอยู่เฉยๆ เพียงแต่ย่อขึ้นลงเท่านั้น นั่นคือ อัจฉริยะของท่านปรมาจารย์แต่โบราณ คือท่านค่อยๆปลูก ค่อยๆสร้างทีละเล็กละน้อย พร้อมกันกับการสร้างการทรงตัวที่ดี ที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยให้เราพะวงกับส่วนข้างบนคือ หมัด แขน ศอก เสียก่อน จนประสาทของเราเคยชินจนเป็นสัญชาติญาณ  ผู้ฝึกมวยไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างจากข้างใน ตั้งแต่อบรมบ่มจิตใจให้แน่วแน่ มีสติ และมีคุณธรรม ที่สำคัญต้องรู้จักสังเกตุตัวเองและรู้สึกตัวเองตลอดเวลา ว่าเรามีอะไรบกพร่อง การทรงตัวของเรานั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราทำได้สมบูรณ์แล้วนั้น เราจะรู้สึกได้เอง เห็นได้เอง และที่สำคัญให้เข้าใจว่าต้องให้ความสำคัญทุกบทเรียน ตั้งแต่ท่าบริหารท่าแรก เพราะท่าแรกคือพื้นฐานของการสร้างท่าที่สอง และท่าแรกกับท่าที่สอง เป็นพื้นฐานของท่าที่สามเป็นต้น และจงระลึกไว้เสมอว่า "จิตใจที่ดีนั่นเอง เป็นพื้นฐานอันดับแรกของวิชามวยไทย"

..........เมื่อผู้ฝึกจัดแต่งตัวเองจนสามารถเล่นท่าบริหารทั้งสามท่าจนชำนาญ สามารถเล่นได้ครบทั้ง ๓ นาทีในทุกๆท่า โดยไม่เหนื่อยเมื่อยล้า ก็แสดงว่ากล้ามเนื้อของเราพัฒนาแล้วนั่นเอง ทีนี้เมื่อโครงสร้างของร่างกายของเราได้พัฒนาขึ้นจากโครงสร้างปกติเดิม ทั้งยังสามารถวางตำแหน่งต่างๆ ขณะบริหารได้อย่างถูกต้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่า เรากำลังเดินเข้าสู่การเป็นทายาทหรือผู้สืบต่อ  วิชามวยไทยของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัยแล้ว

..........สิ่งสำคัญป็นอย่างยิ่งที่ผู้ฝึกฝนทุกท่านต้องทำความเข้าใจคือ เมื่อท่านได้อันดับนี้นั้น ยังถือเป็นอันดับต้นๆ ท่านเพิ่งเป็นเพียงต้นอ่อน ลำต้นยังไม่แข็งแรง  รากแก้วก็ยังไม่มี  ท่านยังไม่สามารถป้องกันตัวและตอบโต้ได้เลยนั่นเอง

..........ขอให้ผู้ฝึกที่สามารถทำท่าบริหารทั้ง ๓ ท่านี้ได้แล้ว ให้ตั้งใจต่อไป มีความเพียรเป็นที่ตั้ง และเริ่มฝึกท่าบริหารท่าที ๔ ต่อไป

...



ท่าที่สี่ พันหมัดยกเข่า


..........ท่าพันหมัดยกเข่านี้เป็นท่าที่สำคัญยิ่ง ยกตัวอย่างก็เหมือนกับว่าสามท่าแรกนั้น เราจัดแต่งระเบียบทั้งการยืน การย่อ และระเบียบของการหมุนแขน กำมือ เราได้จัดการกับความเก้งก้างของแขน ความเอียงไปเอียงมาของการทรงตัว ความผิดๆทั้งหลายให้ลงตัวแบบรวมๆ จนไม่เผลอทำผิดอีกได้แล้วแน่นอน เราจึงจัดแต่งใส่รายละเอียดในขั้นตอนต่อไป

..........ในชื่อของท่าบริหารก็บอกอยู่ชัดเจนแล้วว่า "พันหมัดยกเข่า" ในสามท่าแรกนั้นให้สังเกตุว่า เรายืนด้วยขาทั้งสองข้าง แต่ในท่าบรหารท่านี้นั้น ต้องยืนด้วยขาข้างเดียวเท่านั้น และการยกเข่านั้น จะยกอย่างไรนั่นเอง
  
การยกเข่า

..........ให้ผู้ฝึกอยู่ในท่ายืนมวย ลองยกเข่าขึ้นมาข้างใดข้างหนึ่ง แน่นอนที่สุดว่า น้ำหนักตัวทั้งหมดต้องลงที่ขายืน  และเราต้องไม่ยืดขายืนเด็ดขาด  ให้ผู้ฝึกยกเข่าขึ้นระดับสะดือโดยประมาณ แต่อย่าต่ำลงกว่าสะดือ  โดยยกขึ้นในแนวข้างหน้าเรา ไม่เอียงซ้ายหรือเอียงขวา  จากนั้นให้ทบท่อนขาท่อนล่าง ให้แนบชิดท่อนขาท่อนบนมากที่สุด พร้อมกันนั้นให้งัดหลังเท้าและนิ้วเท้าขึ้นทั้งห้านิ้ว ให้ผู้ฝึกฝึกการยกเข่าอยู่อย่างนี้ ทั้งเข่าซ้ายและเข่าขวา โดยให้ฝึกอยู่ในท่ายืนมวย จนเป็นสัญชาติญาณ  ยกเข่าขึ้นมาครั้งใดก็ตาม ขาท่อนบนและท่อนล่างต้องแนบชิดกัน และยกเข่าระดับสะดือ งัดหลังเท้าและนิ้วเท้าตลอดเมื่อยกเข่า ให้ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งเข่าซ้ายและเข่าขวาเป็นเวลาประมาณ ๓ นาที

ข้อสังเกตุและประโยชน์ของการยกเข่า แบบมวยไชยา

..........การยกเข่าโดยทั่วๆไปนั้น ขาท่อนบนและท่อนล่างไม่ชิดกัน ปลายเท้าและหลังเท้ามักชี้ลงไปยังพื้น ทำให้กล้ามเนื่้อบริเวณน่องและขาท่อนบนอ่อนตัวอยู่ตลอด เป็นอันตรายมากเมื่อถูกกระทบ แต่การยกเข่าแบบมวยไชยานั้น กล้ามเนื้อบริเวณน่องและขาท่อนบน จะแข็งโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเราทบขาท่อนบนและท่อนล่าง พร้อมงัดหลังเท้าและนิ้วเท้า จึงสามารถกระทบรับอวัยวุธจากฝ่ายปรปักษ์ ได้ดีกว่าการยกเข่าแบบธรรมดาทั่วๆไป  และยังสามารถตอบโต้ได้อย่างรุนแรงอีกด้วย

chai ya
muay boran chaiya

พันหมัดยกเข่า (พันไปหน้า)


  เป็นท่าพันหมัดพร้อมกับการยกเข่า ให้ผู้ฝึกยืนในท่าเตรียมพันหมัด


จังหวะที่หนึ่ง


ยกเข่ากวาขึ้นระดับสะดือ ลดแขนซ้ายลงให้เหมือนท่าพันหมัด


ข้อควรระวัง


เวลายกเข่าและส่งแขนขึ้นนั้นอยู่ในลักษณะย่อตลอดเวลาและศอกต้องไม่กาง ดังรูป พยายามทรงตัวให้นิ่ง

watch muay thai chaiya online
muay thi

จังหวะที่สอง


   ให้วางขาขวาลงตำแหน่งเดิม ในลักษณะวางย่อ พร้อมยกเข่าซ้ายขึ้นระดับสะดือเช่นกัน แขนซ้ายชกเข้าทางด้านในแขนขวาขึ้นไปอยู่ระดับตาข้างขวา ส่วนแขนขวาถอยลงมา อยู่ระหว่างครึ่งแขนท่อนบนของแขนซ้าย และรักษาระดับของศอกมิให้กางออก พยายามทรงตัวให้นิ่ง

ให้ผู้ฝึกปฏิบัติจังหวะที่หนึ่งและจังหวะที่สอง ต่อเนื่องกันไปประมาณ ๓ นาที ผู้ฝึกใหม่จะรู้สึกไม่ถนัดเวลายกเข่า อีกทั้งยังต้องทรงตัวมิให้ล้ม และยังต้องมีกฏเกณฑ์ที่ต้องระลึก โดยเฉพาะท่อนขา ระดับเข่า หลังเท้า นิ้วเท้า แนวเข่าต้องตรง ฯลฯ

ประโยชน์ที่ได้รับ

..........ผู้ฝึกจะสามารถทรงตัวได้ดีขึ้น สามารถยกเข่าให้สัมพันธ์กับการพันหมัด อีกทั้งเมื่อยกเข่าพร้อมพันหมัด ยังสามารถพัฒนาเป็นท่าป้องกันตัวเตรียมตอบโต้ และยังเป็นท่ายกสามขุมแบบไชยาแท้ๆของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัยอีกด้วย

(พันกลับ)

..........ให้เปลี่ยนจากการชกเข้าในแขน เป็นชกออกนอกแขน เหมือนท่าพันหมัดย่อยืดทุกประการ การยกเข่าทั้งขวาและซ้าย เหมือนการพันไปหน้าทุกประการ

..........ให้ผู้ฝึกปฏิบัติท่าพันหมัดยกเข่า(ไปหน้า) และท่าพันหมัดยกเข่า(พันกลับ)  ต่อเนื่องกัน โดยแบ่ง ๓ นาที เป็นพันไปหน้าและพันกลับ อย่างละเท่าๆกัน

ประโยชน์ที่ได้รับ

สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น และสามารถพัฒนาเป็นการย่างสามขุมแบบถอยหลัง


ท่าที่ห้า พันหมัดยกเข่าย่อยืด


..........เมื่อผู้ฝึก ฝึกท่าบริหารตั้งแต่ท่าที่หนึ่งจนถึงท่าที่สี่จนชำนาญ และเกิดทักษะในการพันแขน พันหมัด ยกเข่า มีการทรงตัวที่ดีแล้ว ท่าบริหารท่าที่ห้านี้นั้น จะเป็นการฝึกการทรงตัวที่ดียิ่งขึ้นไปอีก คือการยืนเพียงขาเดียวได้นาน แล้วย่อลง ยืดขึ้น พร้อมกับการพันหมัดไปหน้าและกลับหลัง โดยจะย่อยืดข้างละประมาณสิบครั้งแล้วเปลี่ยนขา

วิธีการฝึก
(พันไปหน้า)


..........ให้ผู้ฝึกยืนอยู่ในท่าสามขุม พร้อมยกเข่าข้างใดข้างหนึ่ง โดยให้อยู่ในท่าพันหมัด แล้วยืนนิ่งไว้ในท่าเตรียม พยายามจัดระเบียบของหมัด แขน ศอก เข่าที่ยกนั้นต้องอยู่ระดับประมาณสะดือขึ้นไป พับขาเข้าให้เกือบชิด งัดหลังเท้าและนิ้วเท้าขึ้นให้สุด ที่สำคัญต้องย่อขายืน และต้องนิ่ง พยายามนิ่งที่สุด น้ำหนักตัวไม่โย้ไปข้างหลัง

muay thai chaiya training
muay thai chaiya training

ให้ผู้ฝึกปฏิบัติจังหวะที่หนึ่งและจังหวะที่สอง โดยให้นับหนึ่งเมื่อย่อลงและยืดขึ้นไปจนครบสิบ ให้ปฏิบัติดังนี้จนครบสามนาที

(พันกลับ)
..........ให้ผู้ฝึกปฏิบัติเหมือนการพันไปหน้า ต่างกันที่การพันหมัดในการพันหมัดกลับ ให้ผู้ฝึกปฏิบัติจนครบสามนาที หรือแบ่งสามนาที พันหมัดยกเข่าย่อยืด ทั้งพันไปข้างหน้าและพันกลับหลัง ให้เท่าๆกัน

ประโยชน์ที่ได้รับ

..........จะทำให้สามารถทรงตัวด้วยการยืนเพียงขาเดียวได้นานขึ้น สามารถประคองทุกส่วนของร่างกาย ให้อยู่ในท่าสามขุมพร้อมการย่อยืด สามารถทำให้กล้ามเนื้อสะสมกำลังในการเคลื่อนตัวได้รวดเร็วขึ้น



ท่าที่หก พันหมัดยกเข่าโดด


..........ท่านี้เป็นท่าเพิ่มประสิทธิภาพของสามขุมให้สมบูรณ์ ให้สามารถควบคุมและจัดวางอวัยวุธ โดยเฉพาะการจัดระเบียบของการพันหมัดไปหน้าและกลับหลัง จัดระเบียบของเข่า รวมไปถึงการพับขาและงัดหลังเท้า แม้อยู่ในอิริยาบทกระโดดตลอด

วิธีการฝึก

ให้ผู้ฝึกยืนยกเข่าข้างใดข้างหนึ่ง ให้เหมือนท่าพันหมัดยกเข่าย่อยืด

muay boran chaiya
muay boran chaiya

จังหวะที่หนึ่ง

..........ให้โดดขาที่ยืนอยู่ในลักษณะย่อ โดยเวลาโดด ไม่ให้ขายืนยืดตึง พร้อมกับการพันหมัดไปหน้า เข่าข้างที่ยกให้อยู่ระดับสะดือ ไม่ตกขึ้นลงในขณะโดด ปฏิบัติข้างละสิบครั้ง

จังหวะที่สอง

..........ให้สลับขาเมื่อครบสิบครั้ง โดยการกระโดดเปลี่ยนขายืน และให้ปฏิบัติเหมือนจังหวะที่หนึ่ง ให้ผู้ฝึกปฏิบัติจังหวะที่หนึ่งและสองต่อเนื่องกันประมาณ ๓ นาที

พันกลับ

..........ให้ผู้ฝึกปฏิบัติเหมือนเดิม ยกเว้นการพันหมัดให้พันกลับ ปฏิบัติจนครบสามนาที หรือแบ่งสามนาที เป็นการพันไปหน้าและพันกลับหลังเท่าๆกัน

ประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ที่ฝึกฝนท่านี้จนสามารถโดดได้ไม่เมื่อยล้า ตามเวลาที่ผู้ฝึกกำหนดคือ สามนาที ผู้ฝึกจะรู้สึกได้เองว่า มีกำลังขาอย่างอัศจรรย์ สามารถเคลื่อนตัว และสามารถรู้สึกว่า ใจกับมวยไทยนั้นใกล้กันเข้าไปทุกที จะเริ่มรู้สึกเป็นธรรมชาติในกิริยาสามขุม รู้สึกตัวเบาในขณะโดด และนั่นหมายความว่า "เรา กำลังจะได้รับมรดกตกทอด อันเป็นวิชามวยไทยขนานแท้และดั้งเดิม ของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัยแล้ว"

หัวข้ออื่นๆในบทความมาฝึกมวยไชยากันเถอะ
Back to content